วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

EIS:หลักสูตรสองภาษาแนวใหม่ กลยุทธ์แห่งการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางด้านการศึกษา

นับแต่ปีการศึกษา2540 เป็นต้นมา ผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนสุนทรภู่พิทยาจากที่เคยเป็นโรงเรียนดีเด่นจนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานเมื่อปีการศึกษา 2530 มีแนวโน้มตกต่ำลงมาโดยตลอด อาทิเช่น จำนวนผู้เรียนลดลงจากจำนวนนักเรียนกว่า 1,000 คนเมื่อปีการศึกษา 2537 เหลือเพียงประมาณ 600 คน ในปีการศึกษา 2547 นักเรียนขาดความกระตือรือร้นต่อการเรียน ไม่เข้าห้องเรียน ผู้ปกครองนักเรียนเอาใจใส่ ติดตามผลการผลการเรียนของบุตรหลานของตนและ มีส่วนร่วมต่อการจัดศึกษาของโรงเรียนน้อยมาก ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษาของ สมศ.รอบแรก (2546) พบว่าครูไม่เน้นการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษลดลงมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการทดสอบการศึกษาแห่งชาติวิชาภาษาอังกฤษเกือบต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิมในจังหวัดระยอง(2546-2547) [1]


ดังนั้นในภาคเรียนที่ 2/2547 หลังจากที่ผู้อำนวยการสุรพงศ์ งามสม เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสุนทรภู่พิทยาจึงดำเนินการปรับปรุง พัฒนาการจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นโดยทดลองจัดการเรียนการสอนรูปแบบสองภาษาในวิชาคณิตศาสตร์ กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 ห้องเรียน โดยเรียกรูปแบบการจัดการเรียนสองภาษานี้ว่ารูปแบบEIS (English for Integrated Studies) จนได้รับความสนใจจากนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ครู และชุมชนจึงดำเนินการขยายผลจัดการเรียนการสอนรูปแบบสองภาษา วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 และ 4 รวม 9 ห้องเรียน รวมจำนวนนักเรียน 276 คน โดยได้ดำเนินการบริหารจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ยึดหลัก PIL คือหลักการมีส่วนร่วม (P: Participation) การบูรณาการ (I: Integration) และการเรียนรู้ (L: Learning) และนิเทศการจัดการเรียนการสอนโดยใช้บทบาทผู้นำรูปแบบ Coaching & Mentoring ตลอดจนกำกับติดตามผลการดำเนินงานโดยรูปแบบของ Shewhart’s P-D-C-A Cycle ผนวกกับแนวคิดการพัฒนาภาษาอังกฤษรูปแบบสองภาษา ตามแนวทางของท่านผู้อำนวยการสุรพงศ์อันเป็นผลงานทางวิชาการผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ (2547) จนได้รับการเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนโดยเฉลี่ยประมาณรายละ 1,000 บาทต่อภาคเรียนและเงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง 600,000 บาท เพื่อดำเนินการพัฒนาศักยภาพของครูไทยด้านการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนร่วมกับโครงการหลักสูตรนานาชาติมหาวิทยาลัยบูรพาตลอดปีการศึกษา 2548 ตลอดจนส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กระบวนการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนและ ระบบการวัดประเมินการเรียนแนวใหม่ที่เน้นพฤติกรรมการเรียน ตามหลักการของ รูปแบบEIS ที่เป็นองค์ประกอบหลักสำคัญ ผลการดำเนินการของโรงเรียนที่เน้นการเป็นผู้นำทางด้านการบริหารหลักสูตรและการสอน และจากผลการศึกษาวิจัยผลการดำเนินการโครงการรูปแบบ EIS พบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนภาษาอังกฤษสูงกว่านักเรียนปกติทั้งในระดับชั้นเดียวกันและต่างระดับชั้นอย่างชัดเจน ผู้เรียนสามารถและกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับชาวต่างชาติได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งผู้ปกครองสนใจให้การสนับสนุนและเอาใจใส่ต่อการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ EIS เป็นอย่างมาก ตลอดจน ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์เดิมที่ไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนมาก่อน ได้เรียนรู้และพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษในระหว่างการสอนและการทำงานปกติ ( On- the- Job Learning) ตลอดระยะเวลา 1 ปี สามารถจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในวิชาเดิมได้เกือบไม่แตกต่างจากครูต่างชาติ [2]


จากวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า “ภายในปี2552จะมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีบุคลิกภาพอันเป็นสากล เป็นโรงเรียนแห่งการคิด และชุมชนแห่งการเรียนรู้” ดังนั้นในปีการศึกษา 2549 – 2551 นอกเหนือจากแนวทางการบริหารจัดการดังกล่าวแล้วข้างต้นยังได้นำหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะการนำเงื่อนไขด้านคุณธรรมพื้นฐานปลูกฝังในกระบวนการเรียนการสอนในทุกรายวิชาและประเมินผลผู้เรียนบนหลักการคุณธรรมนำความรู้แจ้งให้ผู้เรียนรับทราบทุกๆสองสัปดาห์ และให้ผู้ปกครองนักเรียนรับทราบและร่วมกันแก้ปัญหาพฤติกรรมและการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกภาคเรียนมาโดยตลอด ได้ปรับระบบการบริหารจัดการโดยการจัดหาเจ้าหน้าที่ธุรการมาทำงานแทนงานธุรการของครูเดิม เพื่อคืนครูเข้าสู่ห้องเรียน จนส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนใน 5 กลุ่มวิชาหลักเช่น วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย สูงขึ้นมาโดยตลอดจนเกือบไม่แตกต่างจากนักเรียนในโรงเรียนยอดนิยมที่มีชื่อเสียง นักเรียนสามารถเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังส่งผลให้นักเรียนกลุ่มนี้หลายคนเป็นผู้นำนักศึกษาที่ทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยต่างๆ และสอบชิงทุนไปต่างประเทศได้ อีกทั้งทำให้ครูสุนทรภู่พิทยาพัฒนาสมรรถนะการสอนสูงขึ้น[3]โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่ไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนมาก่อนสามารถสอนด้วยภาษาอังกฤษไม่แตกต่างจากครูต่างชาติที่สอนในโรงเรียนสองภาษาในประเทศไทย[4] จนเป็นผู้นำการจัดการเรียนการสอนสองภาษารูปแบบ EIS ของประเทศไทย
ปัจจุบันนี้โรงเรียนนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ EIS ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนการยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน สามารถจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนทุกคนกว่า 800 คนเพราะนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาล นอกจากทำให้โรงเรียนสุนทรภู่พิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลโรงเรียนเกือบหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ยกระดับการพัฒนาการจัดการศึกษาจนทำให้ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเข้าอยู่ในกลุ่มโรงเรียนยอดเยี่ยมของประเทศไทยในปีการศึกษา 2552 แล้วยังทำให้โรงเรียนสุนทรภู่พิทยาได้รับการยอมรับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ ให้เป็นโรงเรียนผู้นำการจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษหรือหลักสูตรสองภาษาแนวใหม่ เป็นผู้นำเครือข่ายโรงเรียนประเทศไทยที่ใช้รูปแบบ EIS ซึงเป็นรูปแบบสองภาษาแบบพอเพียง ไม่น้อยกว่า 50 โรงเรียน อีกทั้งมีเครือข่ายโรงเรียนต่างประเทศอาทิเช่นสิงคโปร์ จีน และมาเลเซียเป็นต้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่http://school.obec.go.th/sunthonphu, http://sites.google.com/site/surapongeisth, http://www.ps21.gov.sg/challenge/2007_11/coverstory.html, http://thestar.com.my/education )

[1] สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ผลการทดสอบO-Net นักเรียน ม.6 ปีการศึกษา 2546-2547, Retrieve from http://www.niets.or.th/, Oct/14/2007
[2] สุรพงศ์ งามสม (2549) รูปแบบใหม่การจัดการศึกษาสองภาษา: หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (EIS) กรณีศึกษาโรงเรียนสุนทรภู่พิทยา, โครงการหลักสูตรนานาชาติมหาวิทยาลัยบูรพา เอกสารอัดสำเนา.
[3] คมพล สุวรรณกูฏ, ดร. (2552) การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยอง เขต 2 : ศึกษากรณีโครงการ EIS กลุ่มโรงเรียนพระอภัยมณี เอกสารอัดสำเนา
[4] สุรพงศ์ งามสม. (2551) ประสิทธิผลของการจัดการศึกษาแบบสองภาษาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: กรณีศึกษารูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ เอกสารอัดสำเนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น