surapong.eis.th@gmail.com, July, 2009
นับแต่ปีการศึกษา2540 เป็นต้นมา ผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนสุนทรภู่พิทยาจากที่เคยเป็นโรงเรียนดีเด่นจนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานเมื่อปีการศึกษา 2530 มีแนวโน้มตกต่ำลงมาโดยตลอด อาทิเช่น จำนวนผู้เรียนลดลงจากจำนวนนักเรียนกว่า 1,000 คนเมื่อปีการศึกษา 2537 เหลือเพียงประมาณ 600 คน ในปีการศึกษา 2547 นักเรียนขาดความกระตือรือร้นต่อการเรียน ไม่เข้าห้องเรียน ผู้ปกครองนักเรียนเอาใจใส่ ติดตามผลการผลการเรียนของบุตรหลานของตนและ มีส่วนร่วมต่อการจัดศึกษาของโรงเรียนน้อยมาก ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษาของ สมศ.รอบแรก (2546) พบว่าครูไม่เน้นการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษลดลงมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการทดสอบการศึกษาแห่งชาติวิชาภาษาอังกฤษเกือบต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิมในจังหวัดระยอง(2546-2547) [1]
ดังนั้นในภาคเรียนที่ 2/2547 หลังจากที่ผู้อำนวยการสุรพงศ์ งามสม เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสุนทรภู่พิทยาจึงดำเนินการปรับปรุง พัฒนาการจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นโดยทดลองจัดการเรียนการสอนรูปแบบสองภาษาในวิชาคณิตศาสตร์ กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 ห้องเรียน โดยเรียกรูปแบบการจัดการเรียนสองภาษานี้ว่ารูปแบบEIS (English for Integrated Studies) จนได้รับความสนใจจากนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ครู และชุมชน ในต้นปีการศึกษา 2548 จึงดำเนินการขยายผลจัดการเรียนการสอนรูปแบบสองภาษา วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 และ 4 รวม 9 ห้องเรียน รวมจำนวนนักเรียน 276 คน โดยได้ดำเนินการบริหารจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยหลัก PIL คือหลักการมีส่วนร่วม (P: Participation) การบูรณาการ (I: Integration) และการเรียนรู้ (L: Learning) และนิเทศการจัดการเรียนการสอนโดยใช้บทบาทผู้นำทางการสอน(Instructional Leader)เน้นแบบ Coaching & Mentoring ตลอดจนกำกับติดตามผลการดำเนินงานเชิงระบบ P-D-C-A Cycle ผนวกกับแนวคิดการพัฒนาภาษาอังกฤษรูปแบบสองภาษา ตามแนวทางของท่านผู้อำนวยการสุรพงศ์อันเป็นผลงานทางวิชาการผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ (2547) ได้รับการเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนโดยเฉลี่ยประมาณรายละ 1,000 บาทต่อภาคเรียนและเงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง 600,000 บาท เพื่อดำเนินการพัฒนาศักยภาพของครูไทยด้านการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนร่วมกับโครงการหลักสูตรนานาชาติมหาวิทยาลัยบูรพาตลอดปีการศึกษา 2548 อีกทั้งส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กระบวนการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนและ ระบบการวัดและประเมินผลการเรียนแนวใหม่ที่เน้นพฤติกรรมการเรียน ตามหลักการของ รูปแบบEIS ผลการดำเนินการของโรงเรียนที่เน้นการเป็นผู้นำทางด้านการบริหารหลักสูตรและการสอน และจากผลการศึกษาวิจัยผลการดำเนินการโครงการรูปแบบ EIS พบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนภาษาอังกฤษสูงกว่านักเรียนปกติทั้งในระดับชั้นเดียวกันและต่างระดับชั้นอย่างชัดเจน ผู้เรียนสามารถและกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับชาวต่างชาติได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งผู้ปกครองสนใจให้การสนับสนุนและเอาใจใส่ต่อการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ EIS เป็นอย่างมาก ตลอดจน ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์เดิมที่ไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนมาก่อน ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในระหว่างการสอนและการทำงานปกติ ( On- the- Job Learning) ตลอดระยะเวลา 1 ปี จนกระทั่งครูส่วนหนึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในวิชาเดิมได้เกือบไม่แตกต่างจากครูต่างชาติ [2]
จากวิสัยทัศน์ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมโรงเรียนที่ว่า “ภายในปี2552จะมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีบุคลิกภาพอันเป็นสากล เป็นโรงเรียนแห่งการคิด และชุมชนแห่งการเรียนรู้” ดังนั้นในปีการศึกษา 2549 – 2551 นอกเหนือจากแนวทางการบริหารจัดการดังกล่าวแล้วข้างต้นยังได้นำหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะการนำเงื่อนไขด้านคุณธรรมพื้นฐานปลูกฝังในกระบวนการเรียนการสอนผ่านระบบวัดและประเมินผลผู้เรียนบนหลักการคุณธรรมในทุกรายวิชา นำผลการเรียนรู้แจ้งให้ผู้เรียนรับทราบทุกๆสองสัปดาห์ และให้ผู้ปกครองนักเรียนรับทราบและร่วมกันแก้ปัญหาพฤติกรรมและการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกภาคเรียนมาโดยตลอด อีกทั้งได้ปรับระบบการบริหารจัดการมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นหัวใจของการจัดการ ได้จัดหาเจ้าหน้าที่ธุรการมาทำงานแทนงานธุรการของครูเดิม เพื่อคืนครูเข้าสู่ห้องเรียน จนส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียน( NT/O-NET)ใน 5 กลุ่มวิชาหลักเช่น วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย สูงขึ้นมาโดยตลอดจนเกือบไม่แตกต่างจากนักเรียนในโรงเรียนยอดนิยมที่มีชื่อเสียง นักเรียนสามารถเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังส่งผลให้นักเรียนกลุ่มนี้หลายคนเป็นผู้นำนักศึกษาที่ทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยต่างๆ และสอบชิงทุนไปต่างประเทศได้ อีกทั้งทำให้ครูสุนทรภู่พิทยาพัฒนาสมรรถนะและทักษะทั้งด้านการใช้ภาษาอังกฤษและเทคนิคกระบวนการจัดการสอนสูงขึ้น[3]และสามารถจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษไม่แตกต่างจากครูต่างชาติที่สอนในโรงเรียนสองภาษาในประเทศไทย[4] จนได้รับการยอมรับจากเครือข่ายให้เป็นผู้นำการจัดการเรียนการสอนสองภาษารูปแบบ EIS ของประเทศไทย
ปัจจุบันนี้โรงเรียนสุนทรภู่พิทยา นำกระบวนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ EIS ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน ดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนทุกคน สนองนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาล นอกจากทำให้โรงเรียนสุนทรภู่พิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลโรงเรียนเกือบหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ยกระดับการพัฒนาการจัดการศึกษาจนทำให้ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเข้าอยู่ในกลุ่มโรงเรียนยอดเยี่ยมของประเทศไทยในปีการศึกษา 2552 แล้วยังทำให้โรงเรียนสุนทรภู่พิทยาได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สถาบัน ELTC มาเลเซีย เป็นต้น ให้เป็นโรงเรียนผู้นำการจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษหรือหลักสูตรสองภาษาแนวใหม่ รูปแบบ EIS ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรูปแบบสองภาษาแบบพอเพียง มีโรงเรียนเครือข่ายไม่น้อยกว่า 50 โรงเรียน ซึ่งรวมทั้งเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาในประเทศและต่างประเทศอาทิเช่นสิงคโปร์ จีน และมาเลเซียเป็นต้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://school.obec.go.th/sunthonphu, http://sites.google.com/site/surapongeisth,%20%20%20
[1] สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ผลการทดสอบO-Net นักเรียน ม.6 ปีการศึกษา 2546-2547, Retrieve from http://www.niets.or.th/, Oct/14/2007
[2] สุรพงศ์ งามสม (2549) รูปแบบใหม่การจัดการศึกษาสองภาษา: หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (EIS) กรณีศึกษาโรงเรียนสุนทรภู่พิทยา, โครงการหลักสูตรนานาชาติมหาวิทยาลัยบูรพา เอกสารอัดสำเนา.
[3] คมพล สุวรรณกูฏ, ดร. (2552) การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยอง เขต 2 : ศึกษากรณีโครงการ EIS กลุ่มโรงเรียนพระอภัยมณี เอกสารอัดสำเนา
[4] สุรพงศ์ งามสม. (2551) ประสิทธิผลของการจัดการศึกษาแบบสองภาษาในหลักสูตรการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: กรณีศึกษารูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ เอกสารอัดสำเนา
We do need a creative curriculum to train teachers for this purpose. Could you please get someone to summarize up what has been done and successfully proved. Make the report as Drafted Handbook for Future EIS teachers. This paper could be qualified as a Ph.D. Dissertation. Wiboon S.
ตอบลบ